เป้าหมายนโยบายการเงิน


(1) การใช้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) เป็นเป้าหมายในการดำเนินนโยบาย
คณะกรรมการฯ มีมติให้หักราคาสินค้าหมวดอาหารสดและพลังงานออกจากอัตราเงินเฟ้อ (Headline Inflation)ที่ใช้กันอยู่ปกติในการคำนวณอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่งจะใช้เป็นเป้าหมายในการดำเนินนโยบายการเงินเนื่องจากราคาสินค้าในกลุ่มดังกล่าว อาทิ ข้าว ผลิตภัณฑ์แป้ง เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ ค่าไฟฟ้า หรือราคาน้ำมันมีความผันผวนระยะสั้นสูง ราคาอาหารสดขึ้นกับสภาพอากาศ และราคาน้ำมันขึ้นกับปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ หากยังคงรวมอยู่ในเป้าหมายอาจจะทำให้ต้องปรับเปลี่ยนนโยบายในทางที่ไม่ถูกต้อง ตัวอย่างเช่นกรณีที่ราคาสินค้าหมวดอาหารสดและพลังงานสูงขึ้น จะกระทบต่อกำลังซื้อของประชาชนอยู่แล้ว ยิ่งหากดำเนินนโยบายการเงินอย่างเข้มงวดเพื่อชะลออุปสงค์รวม ก็จะเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น ถึงแม้หักราคาสินค้าหมวดอาหารสดและพลังงานออกแล้ว ข้อมูลเกี่ยวกับราคาในตัวเลขเงินเฟ้อพื้นฐานดังกล่าวก็ยังสูงอยู่ คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 81 ของข้อมูลเกี่ยวกับราคาที่ใช้ในการคำนวณดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index) และจากการเปรียบเทียบข้อมูลในอดีต พบว่าในระยะสั้นอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีความผันผวนน้อยกว่า ส่วนในระยะยาวอัตราเงินเฟ้อทั้งสองมีความสัมพันธ์ไปด้วยกันอย่างใกล้ชิด โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานและอัตราเงินเฟ้อที่ใช้กันอยู่ปกติมีค่าเฉลี่ยใกล้เคียงกัน คือ ประมาณร้อยละ 4.7 และร้อยละ 4.8 ตามลำดับ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อทั้งสองเคลื่อนไหวไปด้วยกันในระยะยาว การรักษาเสถียรภาพของระดับราคาพื้นฐานจะส่งผลให้ระดับราคาโดยรวมมีเสถียรภาพเช่นกัน

(2) การกำหนดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานไว้ที่ร้อยละ 0 ถึงร้อยละ 3.5
จากการที่อัตราเงินเฟ้อของประเทศคู่ค้าคู่แข่งสำคัญของไทยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 3.5 ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาและคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 2-3 ในช่วงปี 2543-2544 การรักษาอัตราเงินเฟ้อของไทยให้สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อของประเทศคู่ค้าคู่แข่งจะทำให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันในการส่งออกได้ และเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างเสถียรภาพให้กับค่าเงินบาท คณะกรรมการฯ เห็นว่าเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานดังกล่าวมีความเหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจของไทย และเมื่อคำนึงถึงอัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ยของไทยในช่วง 2 ปีข้างหน้า อัตรากำลังการผลิตส่วนเกินที่มีอยู่ในระบบเศรษฐกิจ รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำประมาณร้อยละ 2.0 และร้อยละ 1.2 ตามลำดับเมื่อเดือนมิถุนายน 2543 แล้ว เป้าหมายดังกล่าวไม่เป็นข้อจำกัดของการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจ สำหรับช่วงเป้าหมายที่กว้างประมาณร้อยละ 3.5 (ซึ่งใกล้เคียงกับช่วงเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อของประเทศนิวซีแลนด์) จะช่วยรองรับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในช่วงสั้นๆ (Temporary Economic Shocks) ลดความจำเป็นที่คณะกรรมการฯ จะต้องปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินบ่อยครั้ง และช่วยลดความผันผวนของอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นลง ส่งผลให้ระบบการเงินมีเสถียรภาพ


(3) การใช้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยรายไตรมาสเป็นเป้าหมาย โดยเหตุที่อัตราเงินเฟ้อรายเดือนยังมีความผันผวน คณะกรรมการฯ จึงมีมติให้ใช้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยรายไตรมาสเป็น เป้าหมายในการดำเนินนโยบายการเงิน ซึ่งจะสอดคล้องกับประมาณการจากแบบจำลองเศรษฐกิจ-มหภาครายไตรมาสที่คณะกรรมการฯ ใช้เป็นเครื่องมือประกอบการกำหนดนโยบาย โดยหากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานออกจากเป้าหมายที่กำหนดไว้กล่าวคือร้อยละ 0 ถึงร้อยละ 3.5 คณะกรรมการฯ จะต้องชี้แจงต่อสาธารณชนถึงสาเหตุที่ทำให้ออกจากเป้าหมาย มาตรการที่คณะกรรมการฯ จะดำเนินการ รวมถึงเมื่อใดจะกลับเข้าสู่เป้าหมายได้อีกครั้งหนึ่ง
Previous
Next Post »