ประเภทของตราสารหนี้

ตราสารหนี้มีกี่ประเภท


ตราสารหนี้มีกี่ประเภท
ตราสารหนี้มีได้หลายประเภทและหลายรูปแบบ เพราะโดยทั่วไปผู้ออกมักจะมีการออกตราสารหนี้ให้สอดคล้องกับความต้องการเงินทุนและความสามารถในการชำระหนี้ในอนาคตของผู้ออก ในขณะเดียวกันก็ควรต้องตอบสนองต่อความต้องการที่แตกต่างกันของนักลงทุนแต่ละประเภทด้วย เช่น คนวัยเกษียณอายุที่ไม่ต้องการความเสี่ยงอาจต้องการลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐที่มีอายุไม่ยาว เพื่อความมั่นคงสูงแม้ว่าจะให้ผลตอบแทนค่อนข้างต่ำ ในขณะที่คนวัยเริ่มต้นทำงานยอมรับความเสี่ยงได้มากกว่าจึงสามารถลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนที่ให้ผลตอบแทนสูงแต่อาจมีความเสี่ยงมากขึ้น เป็นต้น
ตราสารหนี้สามารถแบ่งได้ตามประเภทหลักๆ ดังนี้
• แบ่งตามประเภทของผู้ออก
1. ตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาล เป็นตราสารหนี้ที่ออกโดยกระทรวงการคลังเพื่อการระดมเงินทุนจากนักลงทุนและประชาชนทั่วไป มาใช้จ่ายในกิจการของรัฐบาลซึ่งส่วนใหญ่เป็นการอุดหนุนภาระขาดดุลงบประมาณ ตราสารหนี้ชนิดนี้ผู้ลงทุนมีฐานะเป็นเจ้าหนี้รัฐบาลโดยตรง ตราสารหนี้ชนิดนี้ถือว่าไม่มีความเสี่ยงเรื่องการผิดนัดชำระดอกเบี้ยและเงินต้น (Default free) เนื่องจากมีรัฐบาลเป็นลูกหนี้ แต่ความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงของราคาเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยในตลาดยังคงมีอยู่ ซึ่งในเรื่องความเสี่ยงนี้เราจะพูดถึงในบทต่อๆไป
ตราสารหนี้ที่มีอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไปเรียกว่า พันธบัตรรัฐบาล โดยอาจแบ่งได้เป็นระยะสั้น 1-5 ปี ระยะกลาง 5-10 ปีและระยะยาวตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป โดยในปัจจุบันระยะเวลาสูงสุดที่ออกขายคือ 20 ปี พันธบัตรรัฐบาลมีมูลค่าหน้าตั๋วหรือที่เรียกว่าราคาพาร์ (par) เท่ากับ 1,000 บาทต่อหน่วย โดยทั่วไปมีลักษณะการจ่ายดอกเบี้ยเป็นแบบอัตราดอกเบี้ยคงที่ (Fixed rate) โดยจ่ายปีละ 2 ครั้ง และชำระคืนเงินต้นครั้งเดียว ณ วันไถ่ถอน ปัจจุบันพันธบัตรรัฐบาลมีสัดส่วนมากเป็นอันดับหนึ่งในตลาดตราสารหนี้ ทั้งในด้านมูลค่าคงค้างและปริมาณการซื้อขาย
พันธบัตรรัฐบาลที่ออกโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นช่องทางการออมของประชาชนทั่วไป เรียกว่า พันธบัตรออมทรัพย์ ซึ่งจะมีเงื่อนไขการขายที่ระบุไว้ให้ขายแก่นักลงทุนที่เป็นบุคคลธรรมดาเท่านั้น (รวมถึงองค์กรไม่แสวงหากำไรบางประเภท เช่น มูลนิธิ สภากาชาด) พันธบัตรออมทรัพย์นี้มักจะมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยในตลาดของพันธบัตรรัฐบาลตามปกติ และมีการกำหนดเงื่อนไขข้อจำกัดบางอย่างเพื่อให้แน่ใจว่าการลงทุนจะอยู่ในมือของประชาชนทั่วไป เช่น จำกัดวงเงินการลงทุนไว้ไม่ให้เกินห้าแสนบาทต่อราย หรือห้ามซื้อขายเปลี่ยนมือนอกกลุ่มนักลงทุนบุคคลธรรมดาภายใน 1 ปีแรก เป็นต้น
สำหรับตราสารหนี้ของรัฐบาลที่มีอายุสั้นๆไม่เกิน 12 เดือนเรียกว่า ตั๋วเงินคลัง ซึ่งในปัจจุบันที่มีการออกประมูลเป็นประจำคือตั๋วเงินคลังอายุประมาณ 1 เดือน 3 เดือน และ 6 เดือน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการบริหารเงินระยะสั้นในบัญชีเงินคงคลัง ตั๋วเงินคลังเป็นตราสารประเภทไม่จ่ายดอกเบี้ย หรือที่เรียกว่า Zero coupon bond โดยจะออกขายในราคาที่หักส่วนลดจากมูลค่าหน้าตั๋ว เมื่อครบกำหนดอายุจะได้รับการไถ่ถอนตามราคาที่ตราไว้ของมูลค่าหน้าตั๋ว
2. ตราสารหนี้ที่ออกโดยองค์กรภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ เป็นตราสารหนี้ที่ออกโดยองค์กรภาครัฐ เช่น พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย พันธบัตรการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ฯลฯ ซึ่งองค์กรผู้ออกจะมีหน้าที่และภาระในการชำระหนี้ทั้งดอกเบี้ยและเงินต้นตามที่กำหนดไว้ ความสามารถในการชำระหนี้และฐานะทางการเงินขององค์กรจึงเป็นเรื่องที่ผู้ลงทุนต้องพิจารณา ส่วนใหญ่เราจะเห็นว่าพันธบัตรรัฐวิสาหกิจบางแห่งมักได้รับการค้ำประกันจากรัฐบาลเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ และช่วยให้รัฐวิสาหกิจนั้นสามารถระดมทุนได้ในอัตราที่ถูกลง
พันธบัตรองค์กรของรัฐมีลักษณะเช่นเดียวกับพันธบัตรรัฐบาลในปัจจุบัน คือมีมูลค่าต่อหน่วยเท่ากับ 1,000 บาท จ่ายดอกเบี้ยแบบคงที่ ปีละ 2 ครั้ง การชำระคืนเงินต้นเกิดขึ้นครั้งเดียว ณ วันไถ่ถอน
3. ตราสารหนี้ภาคเอกชน หรือ “หุ้นกู้” เป็นตราสารหนี้ที่มีอายุมากกว่า 1 ปีที่ออกโดยบริษัทเอกชนเพื่อระดมเงินทุนจากนักลงทุนและประชาชนทั่วไปเพื่อใช้ในการดำเนินกิจการ หุ้นกู้ที่ออกโดยภาคเอกชนนี้มักจะมีเงื่อนไขรายละเอียดของการออกในรูปแบบที่หลากหลาย เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการเงินทุนและความสามารถในการจ่ายคืนเงินต้นของบริษัทผู้ออกนั้นๆ รวมถึงเพื่อดึงดูดนักลงทุน ซึ่งทำให้มีการแบ่งหุ้นกู้ออกเป็นประเภทต่างๆตามที่จะนำเสนอต่อไป
การลงทุนในหุ้นกู้นั้น นักลงทุนจะต้องคำนึงถึงปัจจัยความเสี่ยงด้านการผิดนัดชำระดอกเบี้ยและเงินต้น ซึ่งจะขึ้นอยู่กับความมั่นคงและฐานะทางการเงินของบริษัทผู้ออก ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าหุ้นกู้จะมีความเสี่ยงสูงเสมอไป เนื่องจากบริษัทเอกชนบางรายนั้นอาจมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งมาก เช่นในกรณีที่ออกโดยบริษัทเอกชนที่มีบริษัทแม่ในต่างประเทศค้ำประกัน บริษัทแม่ดังกล่าวอาจได้รับการจัดอันดับเครดิตในอันดับที่สูงกว่าเครดิตของรัฐบาลไทยก็ได้
โดยทั่วไป อัตราผลตอบแทนของหุ้นกู้จะสูงกว่าอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลที่มีลักษณะและอายุเท่ากัน ส่วนต่างที่เพิ่มขึ้นนี้ เราเรียกว่า Credit spread หรือ Risk premium ซึ่งก็คือค่าชดเชยค่าความเสี่ยงนั่นเอง


• แบ่งตามสิทธิในการเรียกร้อง
1. ตราสารหนี้ด้อยสิทธิ (Subordinated bond) คือ ตราสารหนี้ที่ผู้ถือจะมีสิทธิเรียกร้องชำระหนี้ในอันดับหลังจากเจ้าหนี้บุริมสิทธิ์และเจ้าหนี้ทั่วไปในกรณีที่บริษัทผู้ออกตราสารล้มละลาย หรือมีการชำระบัญชีเพื่อเลิกกิจการ ผู้ถือหุ้นกู้ประเภทนี้จะมีสิทธิที่ด้อยกว่าเจ้าหนี้สามัญรายอื่นๆในการเรียกร้องสินทรัพย์จากผู้ออก แต่จะสูงกว่าผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิ และหุ้นสามัญ ซึ่งจะมีสิทธิเป็นอันดับสุดท้าย
ดังนั้นในกรณีที่ผู้ออกตราสารหนี้ไม่สามารถชำระเงินและต้องเฉลี่ยทรัพย์หรือชำระบัญชีให้กับเจ้าหนี้ทุกราย ผู้ถือหุ้นกู้ด้อยสิทธิซึ่งมีฐานะเป็นเจ้าหนี้รายหนึ่งจะได้รับการชำระหนี้ภายหลังจากที่เจ้าหนี้รายอื่นๆที่มีสิทธิเรียกร้องสูงกว่า คือหลังจากเจ้าหนี้ที่มีประกัน เจ้าหนี้สามัญ ได้รับชำระหนี้ไปแล้ว ทรัพย์สินที่เหลือจึงจะนำมาเฉลี่ยให้กับเจ้าหนี้ประเภทด้อยสิทธิ และหากยังคงมีทรัพย์สินเหลืออีก ถึงจะนำไปเฉลี่ยให้แก่ผู้ถือหุ้นเป็นลำดับสุดท้าย
2. ตราสารหนี้ไม่ด้อยสิทธิ ผู้ถือตราสารหนี้ประเภทนี้จะมีสิทธิทัดเทียมกับเจ้าหนี้สามัญรายอื่นๆในการเรียกร้องให้ชำระหนี้ แต่จะมีสิทธิเรียกร้องสูงกว่าผู้ถือตราสารหนี้ด้อยสิทธิ ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิ และผู้ถือหุ้นสามัญตามลำดับ
การแบ่งประเภทตามสิทธิการเรียกร้องทั้งสองกรณีที่มีความแตกต่างข้างต้นนี้ ขออธิบายเพิ่มเติมว่าจะเกิดขึ้นเฉพาะในกรณีที่จะมีการเฉลี่ยทรัพย์หรือการชำระบัญชีบริษัท เนื่องจากบริษัทผู้ออกตราสารถูกพิทักษ์ทรัพย์ ถูกพิพากษาให้ล้มละลาย มีการชำระบัญชีเพื่อเลิกกิจการ หรือกรณีอื่นใดที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. แต่ถ้าไม่มีกรณีดังกล่าว การชำระดอกเบี้ยและเงินต้นในระหว่างงวดหรือเมื่อครบกำหนดไถ่ถอนจะเป็นไปตามปกติที่กำหนดไว้ในหนังสือชี้ชวน

• แบ่งตามการค้ำประกัน
1. ตราสารหนี้มีประกัน หมายถึง ตราสารหนี้ที่ผู้ออกนำสินทรัพย์ซึ่งอาจเป็นอสังหาริมทรัพย์ เช่น ที่ดิน ตึก หรือ สังหาริมทรัพย์ เช่น สินค้าในโรงงาน เป็นหลักประกันในการออก โดยผู้ถือจะมีบุริมสิทธิเหนือสินทรัพย์นั้น โดย ก.ล.ต. บังคับว่าหุ้นกู้ประเภทนี้จะต้องจัดให้มี “ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้” ทำหน้าที่แทนผู้ถือหุ้นกู้ในการรับจำนอง จำนำ หรือรับหลักประกัน และใช้สิทธิบังคับหลักประกัน รวมทั้งตรวจสอบสถานะของสินทรัพย์ที่นำมาค้ำประกันด้วย
การออกตราสารหนี้ประเภทนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเพิ่มความน่าสนใจให้แก่นักลงทุน ในบางกรณีบริษัทเอกชนบางรายอาจไม่มีฐานะทางการเงินที่ดีเพียงพอที่จะดึงดูดความต้องการของนักลงทุน จึงต้องใช้หลักประกันมาช่วยเสริม หรือในกรณีที่เป็นการออกตราสารหนี้เพื่อระดมทุนในการสร้างโครงการใดๆ ก็สามารถนำทรัพย์สินของโครงการนั้นมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันได้
2. ตราสารหนี้ไม่มีประกัน หมายถึง ตราสารหนี้ที่ไม่ได้จัดให้มีหลักประกันเพื่อการชำระหนี้ตามหุ้นกู้ โดยผู้ถือตราสารหนี้ชนิดนี้อาจมีฐานะเป็นเจ้าหนี้สามัญทั่วไปของบริษัทผู้ออกหุ้นกู้ หรืออาจเป็นหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีการกำหนดสิทธิของผู้ถือไว้ต่ำกว่าสิทธิของเจ้าหนี้สามัญทั่วไป
• แบ่งตามประเภทอื่นๆ
1. ตราสารหนี้จ่ายดอกเบี้ยแบบคงที่ (Fixed-rate bond) คือ ตราสารหนี้ที่จ่ายดอกเบี้ยในอัตราคงที่ตามที่กำหนดไว้ตลอดอายุของตราสารหนี้ โดยตราสารหนี้ในตลาดกว่าร้อยละ 80 จะมีลักษณะการจ่ายดอกเบี้ยแบบคงที่
2. ตราสารหนี้จ่ายดอกเบี้ยแบบลอยตัว (Floating rate bond หรือ FRN) หมายถึง ตราสารหนี้ที่กำหนดอัตราผลตอบแทนที่แปรไปตามอัตราอ้างอิงหรือดัชนีที่กำหนดไว้ เช่น อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก หรืออัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ ดังนั้น เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ย อัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ก็จะเปลี่ยนแปลงไปด้วย
ในกรณีที่อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มสูงขึ้น ผู้ออกตราสารหนี้ย่อมต้องการออกตราสารหนี้ประเภทที่กำหนดผลตอบแทนคงทีเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่ต้นทุนดอกเบี้ยจะเพิ่มสูงขึ้น แต่ผู้ซื้อหรือนักลงทุนจะมีความต้องการในตราสารหนี้ประเภทลอยตัว เพราะจะไม่เสียโอกาสที่จะได้รับดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นตามตลาด
ในทางกลับกัน หากอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มลดลง นักลงทุนย่อมต้องการลงทุนในหุ้นกู้แบบจ่ายดอกเบี้ยคงที่ เพื่อล็อคผลตอบแทนไว้ไม่ให้ลดลงตามภาวะตลาด ในขณะที่ผู้ออกจะอยากออกตราสารหนี้แบบจ่ายดอกเบี้ยลอยตัว
3. หุ้นกู้แปลงสภาพ (Convertible bond) เป็นตราสารหนี้ที่ให้สิทธิแก่ผู้ถือหุ้นกู้ในการแปลงสภาพจากการถือหุ้นกู้ไปเป็นหุ้นสามัญตามอัตรา ราคาแปลงสภาพ และเวลาที่กำหนดไว้ หุ้นกู้ประเภทนี้จะได้รับความนิยมในช่วงที่ตลาดหุ้นมีแนวโน้มที่ดี
4. หุ้นกู้ประเภททยอยจ่ายคืนเงินต้น (Amortizing bond) คือ ตราสารหนี้ประเภทที่ผู้ออกจะทยอยจ่ายคืนเงินต้นแก่ผู้ถือในแต่ละงวด แทนที่จะเป็นการจ่ายคืนเงินต้นครั้งเดียวเมื่อครบกำหนดอายุดังเช่นตราสารหนี้ปกติ ในปัจจุบันตราสารชนิดนี้มีเฉพาะหุ้นกู้เอกชนซึ่งได้รับความนิยมมากขึ้นเนื่องจากเป็นการช่วยลดความเสี่ยงของผู้ลงทุนได้ในระดับหนึ่ง ในขณะเดียวกันมีความเหมาะสมกับกระแสเงินรับของผู้ออกหุ้นกู้
5. หุ้นกู้ที่ผู้ออกมีสิทธิเรียกไถ่ถอนก่อนกำหนด (Callable bond) คือ ตราสารหนี้ที่ให้สิทธิผู้ออกในการเรียกคืน (call) หรือไถ่ถอนหุ้นกู้นั้นก่อนกำหนด ก่อนการลงทุนผู้ถือหุ้นกู้ควรจะต้องทราบเงื่อนไขการไถ่ถอนก่อนกำหนดนี้ด้วยเนื่องจากมีผลต่อราคาของหุ้นกู้ 
โดยทั่วไปหุ้นกู้จะถูก Call ในกรณีที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดลดลงจนทำให้ต้นทุนของตราสารหนี้เดิมนั้นสูงเกินควร หรือในกรณีที่อันดับความน่าเชื่อถือของผู้ออกเพิ่มขึ้นทำให้สามารถออกตราสารใหม่ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าตราสารหนี้เดิมของตน
6. หุ้นกู้ที่ผู้ถือมีสิทธิไถ่ถอนก่อนกำหนด (Puttable bond) หมายถึงตราสารหนี้ที่ให้สิทธิแก่ผู้ถือในการขอไถ่ถอนก่อนครบกำหนด โดยรายละเอียดของเงื่อนไขและวิธีการจะกำหนดล่วงหน้าตั้งแต่วันออกหุ้นกู้ เช่น การกำหนดว่าผู้ออกต้องดำรงอันดับความน่าเชื่อถือไม่ต่ำกว่าระดับใด และหากไม่สามารถทำได้ ผู้ถือตราสารมีสิทธิที่จะขอไถ่ถอนก่อนกำหนด
7. ตราสารหนี้จากการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (Securitized bond) คือ ตราสารหนี้ที่เกิดจากกระบวนการแปลงสินทรัพย์ให้เป็นหลักทรัพย์ (Securitization) โดยการจ่ายดอกเบี้ยจะมาจากกระแสเงินสดที่ได้จากตัวสินทรัพย์ที่นำมาแปลงนั้น โดยปกติตราสารหนี้ประเภทนี้จะมีอันดับความน่าเชื่อถือสูง เนื่องจากมีหลักทรัพย์ที่นำมาแปลงนั้นค้ำประกัน หรือมีกระบวนการเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถืออื่น ๆ (Credit enhancement)
8. ตราสารหนี้ประเภทไถ่ถอนเมื่อเลิกบริษัท (Perpetual Bond) คือตราสารหนี้ที่ไม่มีวันหมดอายุ โดยไม่มีการไถ่ถอนคืนจนกว่าบริษัทจะเลิกกิจการ และจะมีการจ่ายดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องตามที่กำหนด
ในประเทศไทย เริ่มมีแนวโน้มที่จะมีการออกตราสารประเภทนี้เพิ่มมาขึ้นเรื่อยๆ โดยสถาบันการเงิน หรือ บริษัทที่ให้บริการสินเชื่อต่างๆมีการนำเอาสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ สินเชื่อเครดิตการ์ด สินเชื่อผ่อนบ้านมาแปลงเป็นหลักทรัพย์ ซึ่งตราสารหนี้ชนิดนี้ถือว่ามีความสำคัญเชิงเศรษฐกิจเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นการทำให้สินทรัพย์ที่เปลี่ยนมือได้ยากกลายเป็นหลักทรัพย์ที่สามารถซื้อขายเปลี่ยนมือได้ง่าย จึงเป็นการเพิ่มสภาพคล่องแก่สถาบันการเงินต่าง ๆ ที่นำสินทรัพย์เหล่านี้มาแปลงเป็นหลักทรัพย์เพื่อลดภาระการดำรงเงินกองทุน และเพิ่มเงินสดสำหรับใช้ในกิจการ
สำหรับตราสารหนี้ภาคเอกชน ตามตารางข้างต้นแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ตามอายุของตราสาร คือ หุ้นกู้ (Corporate bond) และตั๋วเงิน (Commercial paper) ซึ่งเป็นตราสารหนี้ระยะสั้น โดย Commercial paper นั้นมีทั้งที่ออกในรูปของตั๋วแลกเงิน (Bill of exchange) และที่ออกในรูปของตั๋วสัญญาใช้เงิน (Promissory note) ทั้งนี้ กลุ่มตราสาร Commercial paper ส่วนใหญ่เป็นการออกเพื่อกู้เงินในวงจำกัด และมีมูลค่าต่อรุ่นค่อนข้างต่ำมาก จึงแทบไม่มีการซื้อขายในตลาดรอง ดังนั้น เวลาเราพูดถึงตลาดตราสารหนี้เอกชน มักจะหมายความถึง หุ้นกู้ เป็นหลัก
หุ้นกู้ถือว่าเป็นกลุ่มของตราสารหนี้ที่มีรูปแบบหลากหลาย เช่น มีทั้งแบบปกติจ่ายดอกเบี้ยคงที่ (Straight bonds) หุ้นกู้แปลงสภาพ (Convertible bonds) หรือ แบบทยอยจ่ายคืนเงินต้น (Amortizing bonds) ตามที่ได้กล่าวในข้างต้น อย่างไรก็ตาม หุ้นกู้มีมูลค่ารวมคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 15 ของมูลค่าตลาดตราสารหนี้โดยรวม ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่หุ้นกู้มีสภาพคล่องการซื้อขายที่น้อยกว่าพันธบัตรรัฐบาลมาก แม้ว่าจะมีประเภทของตราสารที่หลากหลายก็ตาม 
เครดิต thaibond
Previous
Next Post »